[vc_row][vc_column][vc_column_text](17 ก.พ. 59) ณ ห้องลิมอักษร โรงพยาบาลตากสิน : ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการป้องกันแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Bangkok for Teen : B4T) ซึ่ง มูลนิธิแพธทูเฮลท์โดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อพัฒนาความรู้ ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดตั้งกลไกการดำเนินงานโดยมีแผนงาน และเป้าหมายร่วมกัน สร้างการรับรู้และความเข้าใจโดยพัฒนาทักษะพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูก อีกทั้งให้โรงเรียนมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเพศศึกษา และเข้าถึงเยาวชนที่ขาดโอกาส เยาวชนมีส่วนร่วมโดยท้องถิ่นสนับสนุนและสร้างความเข้าใจ ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพโดยการจัดบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น เพิ่มสมรรถนะผู้ปฏิบัติงาน มีระบบเชื่อมโยงบริการทั้งสุขภาพ การศึกษา และสังคม
สำหรับโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกรุงเทพมหานคร มีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 16 ม.ค. 2558 – 15 ม.ค. 2561 โดยตั้งเป้าลดอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นต่อจำนวนการคลอดของกรุงเทพมหานคร เหลือไม่เกิน 9% ในปี 2560 อัตราการใช้บริการคุมกำเนิดที่เหมาะสมในวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น จำนวนนักเรียนที่ต้องออกจากการเรียนเนื่องจากปัญหาการตั้งครรภ์ลดลง บุตรของวัยรุ่นที่เกิดมามีครอบครัวที่พร้อมจะดูแลและเลี้ยงดูอุปถัมภ์ และพ่อแม่วัยรุ่นที่ได้รับการช่วยเหลือทางสังคมให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อการรณรงค์ ป้องกัน และแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดอย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวไม่อาจดำเนินการได้โดยเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นหรือการตั้งครรภ์ไม่พร้อมถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในปี 2558 สถิติการคลอดของแม่วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 43 คน/การคลอด 1,000 คน ซึ่งจำนวนลดลงจากปี 2557 แต่อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครยังคงมุ่งมั่นดำเนินการลดจำนวนการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นให้ได้มากที่สุด เพราะการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมจะส่งผลกระทบตามมาในหลายด้าน ทั้งตัวพ่อแม่วัยรุ่น เด็กที่คลอด รวมถึงครอบครัว ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้เด็ก ซึ่งการห้ามเด็กมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องยาก แต่ต้องให้เด็กรู้และเข้าใจในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ทั้งนี้ สังคมไทยเป็นสังคมเปิด การเปิดเวทีให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ และระมัดระวังตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง และนครูมีความใกล้ชิดกับเด็ก ต้องเปิดใจและพูดคุยกับเด็กเพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน และสามารถนำความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาไปปรับใช้ในการป้องกันตนเองจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่พร้อมต่อไป[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]