ภูมิคุ้มกันชีวิต ครอบครัว-สังคมช่วยลิขิตได้

น่าตกใจเมื่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาเผยสถานการณ์ตั้งครรภ์ของหญิงวัย ๑๕-๑๙ ปี เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับแต่ปี ๒๕๕๗-๒๕๖๐

ร้อยละ ๒๐ เป็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม นำไปสู่ปัญหาทำแท้ง คลอดบุตรแล้วทิ้ง ออกจากโรงเรียนกลางคัน ฯลฯ

ในหมู่วัยรุ่นชายยังพบปัญหาการใช้ความรุนแรง หรือปัญหาจากยาเสพติด

ต้นตอทุกปัญหาล้วนมาจากฐานครอบครัวที่ไม่แข็งแรง

มีวิธีสร้างภูมิคุ้มกันอะไรไหม เพื่อนำเด็กและผู้ปกครองปรับตัวให้อยู่รอดและเป็น “ครอบครัว” ให้ได้

๑.

“ครอบครัวของเด็กบางคนพ่อแม่แยกทาง ตนเองอยู่กับยายฐานะยากจน แล้วยังมาตั้งท้องในวัย ๑๔ ปี เด็กสาวบางคนโยนลูกทิ้งจากหน้าต่างทั้งที่จิตใต้สำนึกเขาไม่ได้เลวร้าย แต่มีเบื้องหลังชีวิตบีบคั้นจากสังคม เมื่อที่บ้านไม่มีใครให้พึ่งพาก็ไปหาจากที่อื่น นำไปสู่ปัญหาที่เขาก็ไม่ได้ตั้งใจ อย่างติดโรค ติดยา”

ชูไชย นิจไตรรัตน์ หัวหน้าโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนจากมูลนิธิแพธทูเฮลท์ ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหา ซึ่งมักถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน เพื่อน ครอบครัว หรือสาธารณสุขชุมชน และอาจเป็นคำตอบว่าทำไมที่ผ่านมาการพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนจึงไม่สำเร็จ

นับแต่ปี ๒๕๕๙ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่เน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ จึงจับมือกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (path2health foundation) องค์กรเอกชนด้านวิชาการสาธารณสุข จัด “โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน” มาต่อเนื่องถึงปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนสู่ระยะที่ ๒

โครงการนี้เน้นออกแบบกระบวนการให้คนในชุมชนเกื้อกูลกัน สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังระหว่างบ้าน โรงเรียน และสังคม

ช่วยเหลือเยาวชนอย่างรอบด้านและติดตามจนกว่าจะพึ่งตนได้

๒.

เมื่อชัดเจนในแนวทางว่าการป้องกันเป็นทางออกเหมาะสมกว่ารอแก้ปัญหา

จึงเริ่มต้นแผนพัฒนาศักยภาพคนชุมชนโดยนำร่องปฏิบัติกับแกนนำท้องถิ่น

หนึ่งในนั้นคือกิจกรรม “ผู้ใหญ่เปิดใจ ลูกหลานปลอดภัย” ตอน “แค่เราปรับ ลูกก็เปลี่ยน” ที่สถานีอนามัยตำบลเขารูปช้าง สาขา ๒ (เขาแก้ว) ใช้ภาพสื่อความหมายจากโจทย์ที่ให้พ่อแม่เดาใจลูกว่า “ถ้าลูกเลือกภาพแทนบทบาทความเป็นพ่อแม่ ลูกจะเลือกภาพอะไร”

“คราวก่อนผมเลือกรูป ‘ระเบิด’ เพราะนิสัยที่ผมแสดงออกกับลูกสาวเป็นแบบนั้น การแสดงความรักมันทำยาก เวลาลูกมีปัญหาอะไรมาผมระเบิดบึ้ม! โดยที่ยังไม่ได้ฟังเหตุผลลูกเลย”

แดง ตัวแทนชุมชนเขตเทศบาลนครสงขลา เล่าประสบการณ์หลังสำรวจตน

“หลังอบรมผมพยายามปรับปรุงตัวไม่ให้ใจร้อน เวลาไปส่งลูกที่โรงเรียนจะกอดนิดหนึ่ง หอมแก้มทีหนึ่ง คอยถามว่ามีการบ้านไหม ทุกอย่างก็ค่อยๆ ดีขึ้น ในสายตาลูกวันนี้ผมน่าจะเป็น ‘ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์’ แล้วล่ะ ในความมืดมันเริ่มมีความสว่างเปิดกว้างต่อกันมากขึ้น”

เช่นเดียวกับหัวอกคนเป็นแม่ที่มีลูกชายก็ต้องเลี้ยงด้วยจิตวิทยาการสื่อสารไม่ต่างกัน

“ก่อนหน้านี้เลือกรูป ‘เรือ’ เพราะเป็นคนทำอะไรตามแผนและนำทางทุกคนไปตามนั้น ที่ผ่านมาลูกคนโตได้ดั่งใจทุกอย่าง เรียนเก่ง เวลาผ่านไปลูกคนโตเริ่มมีความคิดของตัวเอง จากไม่มีปัญหาก็เป็นคนเงียบ ไม่พูดคุย”

ซะฮ์ อาสาสมัครจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาป๋อง ตำบลพะวง สะท้อนว่าหลังอบรมต่อเนื่องจนครั้งที่ ๔ เป็นเวลาปีกว่า สถานการณ์ในครอบครัวดีขึ้นเรื่อยๆ

“เอาประสบการณ์ที่คนอื่นแลกเปลี่ยนไปลองทำตาม พูดให้น้อย ฟังให้มาก ลดระเบียบวินัยลงบ้าง ผลคือลูกๆ ก็พยายามปรับตัวเข้าหา ผลสอบล่าสุดลูกคนโตได้เกรดเฉลี่ย ๔.๐๐ ลูกคนเล็กก็เป็นเด็กน่ารักขึ้น ครั้งนี้เราจึงเลือกรูป ‘กุญแจ’ การเปลี่ยนทัศนคติช่วย ‘ปลดล็อก’ ช่องว่า
คนในบ้านได้จริงๆ”

๓.

ในสังคมวัยรุ่นที่เคร่งครัดเรื่องจารีต จำเป็นต้องมีตัวเชื่อมเป็นตัวช่วย

“เพื่อนผู้ชายที่รู้ว่าหนูทำงานโครงการนี้จะชอบขอถุงยางอนามัย ถ้าหนูเพิ่งจัดกิจกรรมแล้วเหลือติดกระเป๋าก็จะให้เขา หนูว่าเรื่องเพศสัมพันธ์มันห้ามไม่ได้ การให้ถุงยางเพื่อช่วยให้เขามีสิ่งป้องกันดีกว่าเสี่ยงเกิดความผิดพลาดทีหลัง”

ปลายฝน ทองอารัญ เป็นหนึ่งในแกนนำเยาวชนที่ร่วมเดินสายจัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรเยาวชนใน “โครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดการตั้งครรภ์วัยรุ่น” ในระยะที่ ๑ มาตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษา ในวัย ๒๐ ปี เธอมีฐานะเป็นหนึ่งในคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา และหนึ่งในคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลเมืองเขารูปช้าง

“ได้ทำประโยชน์ก็รู้สึกภูมิใจ เวลาทางเทศบาลจะจัดกิจกรรมแก่เด็กและเยาวชนก็จะให้พวกหนูช่วยจัดตามสถานศึกษา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเพศ ทางเลือกคุมกำเนิด”

กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาให้ข้อมูลว่าวัยรุ่นยังขาดความรู้ในการตัดสินใจเลือกวิธีคุมกำเนิด ถึงอย่างนั้นสถานการณ์ตั้งครรภ์และทำแท้งของหญิงวัย ๑๕-๑๙ ปี ก็มีอัตราลดลงในปี ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นได้ว่าปีนี้-ปีหน้าจะมีแนวโน้มลดอีกและไม่เกินเป้าหมายระดับประเทศที่กำหนด

สำหรับโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนในสงขลา แม้สามปีที่ผ่านจะปรากฏผลสำเร็จจากความร่วมมือสร้างเสริมแนวทางป้องกันควบคู่กับคลี่คลายหลายกรณีที่วัยรุ่นเผชิญปัญหาแล้ว ก็ยังต้องมุ่งขยายภารกิจต่อเนื่องสู่ระดับภูมิภาคให้พี่น้องใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ได้นำต้นแบบไปบูรณาการกับพื้นที่ตน

เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลักดันให้เกิดการสร้างสังคมแห่งสุขภาวะในประเทศ

ซึ่งเห็นผลแล้ว แม้สังคมที่พ่อแม่เติบโตมาทำให้การอยู่ร่วมกับวัยรุ่นเป็นเรื่องยาก

แต่หากเข้าถึงปัญหาด้วยความรัก-เข้าใจก็แตกต่างอย่างลงตัวได้ในบ้านหลังเดิม

 

ที่มา : https://www.sarakadee.com/2019/10/03/parth2health/