โครงการพัฒนารูปแบบกลไกภายในสถานประกอบการ เพื่อส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว กับพนักงานที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กและวัยรุ่น (Positive Parenting in Workplace)
ระยะเวลาดำเนินงาน
30 เดือน (กันยายน 2561-กุมภาพันธ์ 2564)
หลักการและเหตุผล
วิถีชีวิตของพนักงานในสถานประกอบการมีหลากหลายรูปแบบ จำนวนมากเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็นเด็กและวัยรุ่น พนักงานกลุ่มนี้เผชิญความยุ่งยาก มีความทุกข์กับลักษณะพฤติกรรมตามวัยของลูกหลาน ขาดทักษะในการสื่อสาร ดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคนอาจมีปัญหาขั้นวิกฤติที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย ส่งผลให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ มีการลา มาสาย รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสังคมตามมา และด้วยเงื่อนไขในชีวิตของพนักงานสถานประกอบการ ทำให้ขาดโอกาสหาข้อมูลเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว โครงการฯ จึงถูกออกแบบมาหาแนวทางทำงานกับพนักงานกลุ่มนี้ เพื่อทำให้มีความรู้ ความเข้าใจและมีทักษะสื่อสารกันในครอบครัว ผลที่ตามมาคือ สถานประกอบการจะได้พนักงานที่มีครอบครัวอบอุ่น สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ลดความผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพในงานขึ้น นำร่องใน 30 สถานประกอบการ ในเวลา 30 เดือน โดยเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ
- สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งหน่วยที่สนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมให้ประชากรกลุ่มต่างๆ มีความรู้ ความเข้าใจ และลดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเพศ ส่งเสริมด้านสุขภาพจิต การบริโภค การส่งเสริมให้พ่อแม่สื่อสารเชิงบวกกับลูก เป็นต้น หน่วยงานนี้เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ
- สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) ภายใต้ สสส.เช่นกัน เป็นหน่วยที่ขับเคลื่อนงานกับสถานประกอบการต่างๆ เพื่อสร้างองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) โดยการดำเนินงานกว่า 8 ปีมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวนมากและมีบทเรียนที่พิสูจน์แล้วว่า ถ้าส่งเสริมให้พนักงานทำงานมีความอย่างมีความสุข สามารถจัดสมดุลชีวิตได้ ตระหนักว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความสำคัญขององค์กร มีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นอยู่ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีศีลธรรมอันดีงาม และเอื้ออาทรต่อตนเองและสังคม[1] จะทำให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังคำกล่าวว่า “งานได้ผล คนเป็นสุข” โดยสำนัก 8 เป็นผู้แนะนำสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ
- มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) หน่วยงานพัฒนานวตกรรมส่งเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มต่างๆ และส่งเสริมให้หน่วยงานที่มาภารกิจเกี่ยวข้องนำรูปแบบวิธีการไปใช้อย่างต่อเนื่องในภารกิจปกติ มีประสบการณ์ในด้านนี้มากว่า ๒๐ ปี เช่น หลักสูตรเพศวิถีศึกษาเพื่อเยาวชน การทำงานกับท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะเยาวชน การส่งเสริมบริการสุขภาพที่เป็นมิตร เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้ เข้าใจและสามารถสื่อสารเชิงบวกกับลูกหลานได้ ซึ่งกิจกรรมและหลักสูตรเรื่องพ่อแม่ฯ นี้ มีหน่วยงานนำไปใช้อย่างแพร่หลาย รวมถึงการนำไปประยุกต์เพิ่มเติมด้วย และพบว่าผู้ที่นำหลักสูตรไปใช้ระบุว่า “ถ้าทำให้คนในบ้านที่ต่างเพศต่างวัยต่างประสบการณ์ เข้าใจกัน คุยกันดี ๆ ได้ เด็กรู้สึกว่าเปิดใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครองได้ จะเพิ่มความอบอุ่นในบ้าน และช่วยลดปัญหาสังคมได้” โดยมูลนิธิฯ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างทักษะสื่อสารเชิงบวก ให้กับพนักงานในสถานประกอบการที่มีลูกหลานเป็นเด็กและวัยรุ่นอายุ ไม่เกิน 20 ปี โดยผลักดันให้มีนโยบายและมาตรการภายในขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานที่ยั่งยืน
- พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานตามเป้าหมายโครงการ ทั้งระดับสถานประกอบการและสนับสนุนการขยายผล
เป้าหมาย : ต้นแบบสถานประกอบการที่มีรูปแบบภายใน ที่ส่งเสริมให้พนักงานสื่อสารเชิงบวกและมีความสุขในครอบครัว ซึ่งมีรูปแบบหลากหลายจำนวน 30 แห่ง และเป็นตัวอย่างเพื่อการขยายผลได้
การขับเคลื่อนกิจกรรมกับสถานประกอบการ : มี 4 เรื่องหลัก คือ
- เปิดประตู : พบผู้บริหารและทีมภายในเพื่อเข้าใจกรอบโครงการ, ตั้ง Focal point ประสานงาน, วางแผน, ให้โครงการจัดตัวอย่างกิจกรรมให้พนักงานบางส่วน, เลือกทีมภายในพัฒนาเป็นกระบวนกร (ประมาณ 6 คน)
- สร้างทีม : ทีมกระบวนกรอบรม 2 วัน เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นทีมภายใน และวางแผนกิจกรรมของสถานประกอบการ
- จัดกิจกรรม : ทีมข้อ 2 จัดกิจกรรมตามแผน, โครงการสนับสนุนสื่อ การโคช(ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง) การแลกเปลี่ยน และส่งเสริมกิจกรรมอื่นตามความสนใจ เช่น มุม“บ้านมีสุข” จัดกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งงานปกติอื่นๆ ของสถานประกอบการ
- ต่อยอด ขยายผล : ส่งเสริมให้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องภายในสถานประกอบการ และโครงการสามารถนำไปแนะนำบอกต่อ ให้สถานประกอบการอื่นๆ ได้
[1] ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ และ ธีร์ธรรม วุฑฒิวัตรชัยแก้ว. (2559). มาสร้างองค์กรแห่งความสุขกันเถอะ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2559. กรุงเทพ : แอทโฟร์พรินท์.