อันเนื่องมาจาก “น้ำมนต์” จนถึง “น้ำทิพย์” มา “สวนลุงตุ้ม” ทีไร ประโยคคำพูดของญา…

อันเนื่องมาจาก “น้ำมนต์” จนถึง “น้ำทิพย์”

มา “สวนลุงตุ้ม” ทีไร ประโยคคำพูดของญาติผู้ดูแลหลานวัย 3 ขวบ และ 7 ขวบ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้าน ที่ได้ยินแล้วรู้สึกไม่ใคร่จะพอใจอยู่บ่อยครั้ง “ยังไม่เข้ามาอีก เดี๋ยวลุงตุ้มจับขึ้นรถไปกรุงเทพฯ นะ” / “หยุดเล่นโทรศัพท์ เดี๋ยวเรียกลุงตุ้มมาจับนะ” หรือเวลานั่งทำงานข้างบน พวกเด็ก ๆ จะมาเล่นที่ข้างล่างเพราะเย็นดี จะมีย่ามาตามน้องแล้วบอกว่ากลับได้แล้ว “ไม่งั้นจะให้เขาโทรเรียกลุงตุ้มมานะ”.. บลา บลา…

น้ำมนต์เป็นพี่ ตอนวัยเด็กๆ เมื่อหลายปีก่อน ก็ถูกพูดแบบนี้ ได้ยินแบบนี้ จนทุกวันนี้แม้เธอวัย 7 ขวบแล้ว ก็ยังไม่กล้าเข้ามาใกล้ชิดลุงตุ้ม อาจเพราะกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ฝ่ายน้ำทิพย์ผู้น้อง ตั้งแต่เล็กๆ ก็เข้าสู่วังวนคำพูดเดียวกับผู้พี่

ทั้งๆ ที่เด็กๆ และผู้ใหญ่อื่นๆ แถวนี้รู้ดีว่า ถ้าลุงตุ้มมาต้องมีขนมมาแจก ไม่ก็ทำขนมเลี้ยง หรือเทศกาลทีต้องมีของมาฝากจนเป็นลุงใจดีของเด็กๆ และคนต่างถิ่นที่ใจดีกับผู้คน…. แต่ไม่ใช่กับหนูๆ พี่น้องสองน้ำ… นี่เลย

ลุงตุ้มเคยถามพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ของเธอว่า จะหลอกหลานทำไม ก็บอกว่าทำให้หลานเชื่อฟัง และญาติหลายคนก็เห็นว่าดีแล้ว “จะได้เอาอยู่” ซึ่งก็เคยให้เหตุผลสารพัด โดยเฉพาะการส่งผลถึงวันหน้า ที่จะทำให้หลานรักมองโลกแง่ร้าย เก็บตัว หวาดระแวง ไม่ไว้ใจใคร ขี้กลัว ไม่มีเหตุผล ต่างๆ นาๆ แต่ก็เหมือนทุกคนนึกไม่ออก ไม่เห็นจะสนใจอะไร ทำแบบนี้ต่อมา และต่อๆ มา ซึ่งก็ได้ยินแบบนี้ทุกครั้งที่มาที่นี่ … รวมถึงวันนี้ด้วย….

นึกถึงตัวลุงตุ้มเอง.. จำได้ว่าสมัยเด็กๆ ผู้ใหญ่ในบ้าน และแถวบ้านสมัยโน้นนนนนนน (ลากยาวววเลย) ที่ชอบหลอกเรื่องผี-เพราะไม่อยากให้ไปไหนมืดค่ำ / เรื่องไอ้เข้(จระเข้)-เพราะไม่อยากให้เล่นน้ำในคลองตอนหน้าน้ำหลากที่อาจป่วยและอันตราย / คนแปลกหน้าจะจับตัว-เพราะสอนว่าอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า และอีกหลายๆ เรื่อง…. จนทุกวันนี้บอกได้เลยว่า ยังกลัวการเล่นน้ำในพื้นน้ำที่ไม่คุ้นเคย ทั้งที่ว่ายน้ำได้ดี / การกลัวหรือหวาดหวั่นความมืด– หรือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นตัวเอง… ที่แน่นอนว่าเป็นผลมาจากสมัยนั้นแน่ๆ และนี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ ตอกย้ำงานศึกษาด้านจิตวิทยาอีกหลายอันที่เคยอ่าน….

ผู้คนจำนวนมากที่ ‘เป็น อยู่ คือ’..ในสังคมรากฐานของบ้านเรา บ่มเพาะคนรุ่นต่อรุ่นกันแบบนี้ หลอกให้กลัวเพื่อไม่ทำบางอย่าง บอกให้เชื่อ แต่ไม่บอกเหตุผล… วนเวียน ตอกย้ำ ซ้ำทวน รอบแล้วรอบเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า … เราจะแก้ที่ใคร แก้ที่ผู้เด็ก หรือแก้ที่ผู้ใหญ่ ???

และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลท้าทาย ให้ลุงตุ้มพาตัวเองมาอยู่ตรงจุดนี้ ในทุกวันนี้ล่ะ… “การทำงานกับพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในชีวิตเด็ก”

#คุยเปิดใจฯ #ท้องถิ่นเพื่อน้อง #คือสลต.

ที่มา : คุยเปิดใจลูกหลานปลอดภัย