นักเรียน ม.ต้นได้แรงบันดาลใจจากนางแบบซารีน่า ไทย และการอบรมความเป็นมิตรต่อเพศหลากหลาย

ตั้นวางแผนว่าโตขึ้นจะเป็นนักออกแบบแฟชั่น อ๊อดจะเป็นนางแบบ และแบงค์จะเป็นนักการตลาด* แต่สิ่งที่ทำให้นักเรียนม.ต้นวัย 13 ปีทั้งสามคนนี้เป็นเพื่อนสนิทกันไม่ใช่แค่การมีแผนอาชีพที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน แต่คือการที่ต่างต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเป็นวัยรุ่นที่มีตัวตนและการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากความคาดหวังของสังคม

ด้วยทั้งความฝันในอนาคตและสถานการณ์ที่ต้องเผชิญดังกล่าว ทั้งสามคนจึงยิ้มแก้มปริ เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับซารีน่า ไทย นางแบบระดับโลกและนักเคลื่อนไหวสตรีข้ามเพศ ที่มาเยี่ยมชั้นเรียน ม. 1 ของพวกเขา

ทั้ง 3 คนแย่งกันถามคำถามต่อซารีน่า เช่น

“ทำไมพี่ตัวสูงจังคะ?”

“พี่ซารีน่ามีเฟสมั้ยคะ?”

“จะเป็นนางแบบที่ประสบความสำเร็จ ต้องทำยังไงคะ?”

ทั้งสามยิ้มและหัวเราะกันไม่หยุด เพราะรู้สึกขอบคุณมูลนิธิแพธทูเฮลท์ที่เชิญซารีน่ามาเยี่ยมโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ของพวกเขา รวมทั้งให้การอบรมเกี่ยวกับปัญหาการรังแกนักเรียนที่นิยามตนเองว่าเป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ หรืออินเตอร์เซ็กส์ (LGBTI)

“ดีใจมากค่ะ” น้องตั้นกล่าว “เพื่อนในห้องก็รู้ว่าหนูเป็นยังไง แต่เดี๋ยวนี้หนูไม่โดนล้อโดนแซวแล้ว กิจกรรมนี้ดีและได้ผลค่ะ”

การมาเยือนของซารีน่าและการอบรมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลดความรุนแรงและการรังแกกันในโรงเรียน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแพธทูเฮลท์และมูลนิธิเอ็มพลัส โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การแพลนอินเตอร์แนชั่นแนลประเทศไทย และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์  และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก

ภายใต้โครงการนี้ที่มีระยะเวลา 3 ปี มูลนิธิแพธทูเฮลท์ได้สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนหกแห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งรวมถึงโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ เพื่ออบรมครูและสร้างคณะทำงานเพื่อนำหลักสูตรการลดความรุนแรงและการรังแกกันมาปฏิบัติ รวมถึงจัดกิจกรรมในประเด็นดังกล่าวในทั้งหกโรงเรียน

ในช่วงที่ซารีน่าเข้าไปเยี่ยมโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กำลังมีการสอนเกี่ยวกับผลกระทบของการรังแกกัน และสิ่งที่ควรทำเมื่อพบเห็น โดยผู้อบรมใช้วิธีการสอนที่ไม่ใช่การท่องจำแบบที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ วิธีการของมูลนิธิแพธทูเฮลท์คือการชวนนักเรียนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการรังแกกันในโรงเรียนและเรื่องตัวตนทางเพศภาวะ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเล่นบทบาทสมมุติเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ที่นักเรียน LGBTI เผชิญเป็นประจำ ทั้งตั้น อ๊อด และแบงค์กล่าวว่าพวกตนมักจะถูกล่วงเกิน เช่น แตะเนื้อต้องตัว กอดจูบแบบตั้งใจทำให้อับอาย ดังนั้นในการอบรมนี้ เพื่อนร่วมชั้นสองคนเล่นบทบาทสมมุติสาธิตสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมการอบรมเห็นได้ชัดเจนว่าคนที่ถูกแอบกอดจากข้างหลังนั้นรู้สึกอึดอัดอย่างไร

ซารีน่าเน้นย้ำทั้งในชั้นเรียนและกับนักเรียนสามคนที่อยู่คุยด้วยหลังการอบรมว่า ช่วงนี้ของชีวิตวัยเรียน เรื่องเรียนควรมาเป็นอันดับแรก และนักเรียนควรได้รับความช่วยเหลือในระหว่างที่กำลังค้นหาเส้นทางอนาคต

ซารีน่าบอกกับทั้งสามคนว่า “น้องๆ ยังเด็กและกำลังค้นหาตัวของตัวเองอยู่ อย่าเพิ่งรีบนะคะ ให้เวลากับตัวเองและให้ความสำคัญกับเรื่องเรียน อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจว่าอยากจะเป็นอะไรในอนาคต”

นอกจากนี้ เธอยังได้แนะนำโครงการ #PurpleMySchool ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การยูเนสโกผ่านแผนงาน Being LGBTI in Asia ซึ่งแม้ว่าโครงการนี้จะเปิดตัวในสื่อออนไลน์ แต่มีเป้าหมายที่เลยขอบเขตของโลกออนไลน์ กล่าวคือการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน LGBTI และทั้งเหล่านักเรียนและครูยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย

ฮันเตอร์ เกรย์ ผู้จัดการโครงการ #PurpleMySchool จากหน่วย HIV Prevention and Health Promotion (HP2) ของสำนักงานยูเนสโกประจำกรุงเทพ กล่าวว่า การต้อนรับที่ซารีน่าและมูลนิธิแพธทูเฮลท์ได้รับจากนักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียนทำให้มีความหวังเป็นอย่างมากต่อความสำเร็จของโครงการ

“โครงการนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนวัฒนธรรมในโรงเรียน จากแต่เดิมที่นักเรียน LGBTI ถูกรังแกและกีดกัน ให้กลายมาเป็นสภาพแวดล้อมที่ยอมรับและให้การสนับสนุนพวกเขา นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กและทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้ปกครอง” ฮันเตอร์กล่าว “วันนี้เราได้แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของครูและผู้ปกครองที่ออกมาปกป้องนักเรียน LGBTI ที่ถูกรังแก จากผู้บริหารโรงเรียนที่ตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชน์ของโครงการที่เราทำอยู่ และที่สำคัญคือ จากเด็กนักเรียนที่เห็นว่าโครงการนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตในโรงเรียนให้ดีขึ้นอย่างไร”

ทั้งนี้นักข่าวจาก Voice TV และนิตยสาร Prism ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมในห้องเรียน และสัมภาษณ์ซารีน่า ตัวแทนองค์การยูเนสโก องค์การแพลนฯ และมูลนิธิแพธฯ รวมถึงครู ผู้บริหารโรงเรียน และตัวนักเรียนเอง เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการรังแกนักเรียน LGBTI ในโรงเรียน และเพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ #PurpleMySchool

ชื่อเสียงของซารีน่าช่วยให้โครงการเป็นที่รู้จักมากขึ้น และยังช่วยให้ตั้น อ๊อด และแบงค์ได้เห็นว่า ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ แม้ว่าจะมีเพศภาวะที่แตกต่างจากเพศกระแสหลัก

“ส่วนตัวแล้วคิดว่า [โครงการ #PurpleMySchool] เป็นแนวความคิดที่ดีมากค่ะ” ซารีน่ากล่าว “ตัวดิฉันเองโชคดีที่ได้รับโอกาสให้เป็นตัวของตัวเองและทำสิ่งที่อยากทำ แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างที่ควรได้รับ”

*เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว บทความนี้ใช้นามสมมุติแทนชื่อจริงของนักเรียนทั้งสาม

“โครงการป้องกันและลดการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในโรงเรียน” (Respect for All: Promoting Safe and Gender-responsive Schools in Thailand) เป็นโครงการระยะเวลาสามปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานประจำประเทศสวีเดนขององค์การแพลนอินเตอร์แนชั่นแนล และจากกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ของประเทศเนเธอร์แลนด์

Voice TV: news.voicetv.co.th/lgbt/257790.html