มูลนิธิแพธฯ และเชฟรอน เผยความสำเร็จโครงการผู้ใหญ่คุยเปิดใจฯ แนะปัญหาเยาวชน ต้องแก้ไขที่การรับฟังของผู้ใหญ่

“หลักจากผ่านหลักสูตรนี้ ภายในเวลาแค่ 5-7 ชั่วโมง ประมาณ 50-60% ของห้องบอกว่า ฉันจะเปลี่ยนตัวเอง ฉันจะฟังลูกมากขึ้น มาวันนี้เริ่มเข้าใจว่าลูกคิดยังไงอยู่ เริ่มรู้ว่าที่คิดว่าถูกมาตลอด ไม่ใช่เลย”

คุณพันธ์ศักดิ์ โรจน์วาธรรม ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองและวิทยากรต้นแบบ

ด้วยสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดความเสี่ยงในหลายๆ ด้านกับเยาวชน รวมถึงด้านสุขภาวะทางเพศในเยาวชน โดยจากรายงานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ปี 2552 พบว่าอายุ 15-16 ปี คืออายุเฉลี่ยที่วัยรุ่นเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ในขณะที่ผลสำรวจชี้ว่าพ่อแม่เป็นบุคคลที่เยาวชนคาดหวังว่าควรมีบทบาทในการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศมากและยังเป็นบุคคลที่เยาวชนต้องการจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุดถึงร้อยละ 60 แต่ในทางกลับกัน เพื่อนสนิท คือคนที่เด็กและวัยรุ่นจะหันหน้าปรึกษาหากมีคำถามเรื่องเพศ เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือช่องว่างในเรื่องของการสื่อสารภายในครอบครัว การพูดคุยสร้างความเข้าใจ และการกล้าที่จะเปิดใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองเวลาที่ลูกหลานมีปัญหา

ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) จัดโครงการ “ผู้ใหญ่เปิดใจ ลูกหลาน (รัก) ปลอดภัย” ในพื้นที่ 8 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัวในเรื่องเพศ สร้างทัศนคติที่ดี ทั้งในตัวผู้ปกครองและลูกหลานวัยรุ่นเรื่องเพศแบบเปิดใจ และเสริมทักษะการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองคือช่องทางสำคัญในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเยาวชน โดยระยะเวลากว่า 4 ปีในการดำเนินงาน โครงการได้จัดการอบรมพ่อแม่ผู้ปกครองแล้วกว่า 20,000 คน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือพ่อแม่ที่มาเข้ารับการอบรมจากโครงการฯ มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงและความอยากรู้อยากลองของวัยรุ่น และที่สำคัญคือมีทัศนคติที่ดีขึ้นในการเปิดใจรับฟังบุตรหลานมากขึ้น

คุณหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ เชฟรอนประเทศไทย กล่าวว่า “เชฟรอนประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพลังคนที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต และมองว่าครอบครัวจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับวัยรุ่นเพื่อป้องกันปัญหาและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาททำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น จากการดำเนินงานโครงการฯ ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ เราได้เห็นความตื่นตัวของคนในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน ไปจนถึงแกนนำชุมชน ที่มาร่วมกันจัดการอบรมวิทยากร การอบรมพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักสาธารณสุข ครูอาจารย์ ไปจนถึงการให้ความรู้แก่นักเรียนในโรงเรียน โดยเน้นทั้งด้านทักษะการสื่อสารระหว่างพ่อแม่และบุตรหลานอย่างสร้างสรรค์ และการให้ความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้องควบคู่ไปด้วย และที่สำคัญที่สุด ภายใต้การดำเนินการของมูลนิธิ โครงการนี้สามารถขยายตัวครอบคลุมจังหวัดเพิ่มเติมได้อีกถึง 35 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ”

คุณภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวสรุปถึงผลการดำเนินงานว่า ทัศนคติในเรื่องเพศของพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการฯ เปลี่ยนไปในเชิงบวก โครงการคุยเปิดใจฯ พยายามทำงานโดยเชิญชวนผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มจากชวนลองคิดว่าหากเราเป็นวัยรุ่นยุคนี้ พฤติกรรมเราจะเหมือนหรือต่างจากลูกหลานของเรา จากนั้นต้องเปิดใจคุยกัน ไต่ถาม รับฟังสิ่งที่ลูกพูด โดยไม่ตัดสินลูก เมื่อรับฟังและเกิดความรู้สึกเป็นห่วง ก็ต้องแสดงให้เขารับรู้ว่าพ่อแม่เป็นห่วงเพราะอะไร หากในบ้านมีบรรยากาศในการรับฟังกันย่อมส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่ต้องชี้ชวนให้ผู้ใหญ่ได้ลองคิดและนำไปปฏิบัติจริงในครอบครัว

คุณภาวนากล่าวเสริมว่า หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขยังได้นำหลักสูตรของโครงการไปดัดแปลงอบรมพ่อแม่ในโครงการอื่นๆ เนื่องจากเล็งเห็นว่าหลักสูตรเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการสื่อสารทางบวกระหว่างกันในครอบครัวที่เห็นผลลัพธ์จริง โดยใน 3-5 ปีที่ผ่านมา โครงการได้รับความนิยมและมีคนกล่าวถึงมาก และมีเสียงเรียกร้องให้จัดโครงการอีกเรื่อยๆ เพราะหลักสูตรได้รับการยอมรับว่าช่วยพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวให้ดีขึ้น

คุณพันธ์ศักดิ์ โรจน์วาธรรม ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองและวิทยากรต้นแบบ ได้พูดถึงหลักสูตรของโครงการว่า “ จากคุณพ่อที่เคยมั่นใจมาก และคิดว่าตัวเองถูกตลอด พอได้เข้าร่วมอบรม ผมจึงค้นพบว่าสิ่งที่ผมคิดและเข้าใจตลอดมาไม่ใช่สิ่งที่ถูกเสมอ ลูกไม่ใช่ต้องฟังเราฝ่ายเดียว แต่ทุกคนต้องฟังซึ่งกันและกัน เวลาผมลงไปเป็นวิทยากรในแต่ละพื้นที่ ปัญหาหลักที่พบคือ พ่อแม่ลูกไม่คุยกัน ผู้ใหญ่คิดว่าตัวเองถูก 100 เปอร์เซ็นต์ คาดหวังว่าลูกควรเป็นเด็กดี ควรจะเชื่อฟัง แต่ละท่านลืมไปว่าตัวเองเคยเป็นวัยรุ่นเหมือนกัน สุดท้ายพอเดินออกจากห้องทำกิจกรรม ผู้ใหญ่จะได้เข้าใจว่าตัวเองต้องปรับตัวด้วยเพื่อให้เด็กเข้าหา หลักสูตรของโครงการไม่สอน ไม่ห้ามใคร แต่เราจะเตือนสติ ชวนให้ย้อนคิด มีบางครอบครัวที่ลูกถึงขั้นหนีออกจากบ้าน เพราะพ่อแม่ไม่ฟัง ดุอย่างเดียว พอได้มาร่วมโครงการ ลูกกลับบ้านมาเรียนปกติ และเรียนดีขึ้น เพราะพ่อแม่ลูกคุยกันดีขึ้น”

โครงการ “ผู้ใหญ่เปิดใจ ลูกหลาน (รัก) ปลอดภัย” ดำเนินการในพื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีภาคีขับเคลื่อน 251 หน่วยงาน มีทีมวิทยากรหลักในพื้นที่ที่พร้อมเปิดห้องเรียนให้พ่อแม่ 334 คน และมีพ่อแม่ผู้ปกครองกว่า 20,000 คนที่ผ่านการเรียนรู้จากห้องเรียนคุยเปิดใจฯ

ที่มา : http://www.chevronthailand.com/publication/news/2016/08.asp