ก้าวที่เปลี่ยนแปลงของสถานศึกษาต้นแบบ-บทเรียนการสอนเพศศึกษาจากโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ

ผู้เขียน: แสงจันทร์ เมธาตระกูล มูลนิธิแพธทูเฮล์ท

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่ใช้ประกอบกิจกรรมเสริมทักษะหัวข้อ “โรงเรียนไหนอยากทำศูนย์การเรียนรู้เพศวิถีศึกษา 14 แห่ง” ในการประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 1 : การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เมื่อวันที่ 8 – 10 กันยายน 2557 อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี

ความเป็นมา
ภายใต้ “โครงการส่งเสริมเพศวิถีศึกษาสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา” ที่ดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 จนถึงกันยายน 2557 รวม 11 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 43 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของงานป้องกันการแพร่ระบาดของเอชไอวี เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 12-24 ปี

การดำเนินงานเพื่อไปสู่วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้มีกลไกสำคัญคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนเพศวิถีศึกษาจังหวัด เพื่อวางแผนขับเคลื่อนเพศวิถีศึกษาในสถานศึกษาของจังหวัด และทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษา การอบรมพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน การร่วมกันโคชโดยสังเกตการณ์ในชั้นเรียน/การเยี่ยมสถานศึกษา (นิเทศติดตาม) และสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นให้จัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาแบบรอบด้าน (Comprehensive Sexuality Education) อย่างต่อเนื่องและอยู่ในโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา และผู้เรียนได้เรียนต่อเนื่องตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ครบทุกชั้นทุกห้องเรียน

ปัจจุบันมีสถานศึกษาสังกัด สพฐ. เข้าร่วมโครงการส่งเสริมฯ ทั้งหมดจำนวน 1,833 แห่ง ซึ่งจำนวนสถานศึกษาทั้งหมดนี้ มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาสำหรับผู้เรียนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเอื้อและเงื่อนไขเฉพาะด้านของสถานศึกษาแต่ละแห่ง และในปีสุดท้าย 2557 นี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนเพศวิถีศึกษาในแต่ละจังหวัด ได้มีการประเมินและคัดเลือกสถานศึกษาที่สามารถจัดการเรียนรู้ตามเงื่อนไขของโครงการฯ กำหนดไว้ โดยมีสถานศึกษาจำนวน 190 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเป็นสถานศึกษาต้นแบบ ซึ่งสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้เพศวิถีศึกษาได้

มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) เล็งเห็นว่ากระบวนการหรือการดำเนินการภายในสถานศึกษาแต่ละแห่ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ไปสู่ผลลัพธ์ของผู้เรียนได้ จึงได้สุ่มกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนที่สามารถดำเนินการตามเกณฑ์การคัดเลือกในจังหวัดลำพูน ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์ทำงานภายในสถานศึกษาจำนวน 14 แห่ง โดยมุ่งศึกษากระบวนการและค้นหาองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดการจัดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องภายใต้บริบทของสถานศึกษา ซึ่งมูลนิธิฯ คาดหวังว่า ข้อสรุปจากบทเรียนของสถานศึกษาทั้ง 14 แห่งดังกล่าวนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับสถานศึกษาแห่งอื่นๆ ที่มุ่งมั่นพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาให้เกิดผลสำเร็จในต้วผู้เรียน ซึ่งเป็นกระบวนการส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะการคิดวิเคราะห์ และคุณลักษณะของผู้เรียนที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ควบคู่กับการพัฒนาทักษะวิชาการ

ข้อค้นพบสำคัญ
จากการถอดบทเรียนการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษา พบว่า เกี่ยวข้องกับมิติหลัก ได้แก่

การบริหารความขัดแย้งภายในสถานศึกษา : การจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษารอบด้าน เป็นการริเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนรู้ ที่ต้องเปิดใจพูดคุยเรื่องเพศ และเข้าใจสถานการณ์เยาวชนที่มีพัฒนาการทางเพศเร็วขึ้น มีพฤติกรรมทางเพศที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้น การอบรมด้วยหลักสูตรพื้นฐานอาจไม่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้สอน และครูทั้งหมดในโรงเรียน การจัดการความขัดแย้งจากความไม่เข้าใจชัดเจนต่อเนื้อหาและวิธีการสอน ย้ำความจำเป็นในการสอนกับครูอื่น การทำให้ครูอื่นได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ในวัตถุประสงค์ของการสอน จึงเป็นบทบาทของผู้บริหาร หรือฝ่ายวิชาการ ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อให้ครูที่ตั้งใจสอนได้สอนจนบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียน
ความเข้มแข็งของทีมผู้สอนที่ทำให้เกิดการสอนที่ต่อเนื่อง : การจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษารอบด้านให้บรรลุผลลัพธ์ที่ชัดเจนในตัวผู้เรียน อาศัยระยะเวลาและพัฒนาการแตกต่างกัน ตามเงื่อนไขภายในสถานศึกษาแต่ละแห่ง การยืนหยัดในการสอนต่อเนื่อง จริงจัง จะทำให้ครูชัดเจนในเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและแผนการเรียนรู้ นำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่ต่อยอดจากกิจกรรมในห้องเรียนได้ และการสอนบ่อยๆ ในหลายแห่งพบว่าครูผู้สอนต่างก็ได้เรียนรู้และเข้าใจแผนการสอนไปพร้อมๆ กับผู้เรียน และการสอนที่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ต่อผู้เรียนในทางที่ผิดมากกว่าการเกิดผลเชิงบวก
การสอนเรื่องเพศให้สำเร็จ ต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครอง และชุมชน : การสอนเพศศึกษาในห้องเรียนอาจตอบโจทย์ความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่พฤติกรรมทางเพศของผู้เรียนเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายสาเหตุ ดังนั้นการสอนเรื่องเพศในชั้นเรียนจะทำให้ครูรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับครอบครัวหรือผู้ปกครองผ่านระบบดูแลช่วยเหลือ การเยี่ยมบ้าน เพื่อให้เข้าใจและวางแนวทางดูแลพฤติกรรมของผู้เรียนร่วมกัน การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเป็นบทบาทของครูประจำชั้น ครูแนะแนว หรือครูฝ่ายกิจการนักเรียนหรือครูปกครอง ต้องมีแนวทางการช่วยเหลือดูแลเด็กไปในแนวทางเดียวกันคือการดูแลและส่งเสริมเยาวชนด้วยการสร้างวินัยเชิงบวก ดังนั้นโรงเรียนที่มีทิศทางการบริหารจัดการไปในทางเดียวกันย่อมส่งผลสำเร็จที่มากกว่า
ภาคีเครือข่ายกับบทบาทการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ : องค์กรที่มีภารกิจพัฒนาสุขภาวะเยาวชน การส่งเสริมทักษะชีวิต การคุ้มครองสิทธิเด็ก ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นภาคีที่จะช่วยเหลือการทำงานในโรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจะได้รับการสนับสนุน ทั้งทางด้านทรัพยากร วิชาการ บุคลากร พัฒนาและปรับปรุงวิธีการจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของสถานศึกษาว่า จะวางแผนการทำงานร่วมกับภาคีให้เป็นการหนุนเสริมกันได้อย่างไร เพื่อริเริ่มสิ่งใหม่ๆ หรือช่วยกระตุ้นให้ครูทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนในสถานศึกษา

ที่มา : http://3c4teen.org/?p=394