โครงการส่งเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในงานพัฒนาและคุ้มครองเด็กและครอบครัว

เด็กและเยาวชนของเราทุกวันนี้ น่าห่วงเพียงใด ?

จากการเก็บข้อมูลเรื่องเด็กในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา พบว่า ๑ ใน ๓ ของเด็กอายุน้อยกว่า ๕ ปี มีพัฒนาการที่ล่าช้าและส่งผลให้คะแนนEQ กับIQของเด็กช่วงวัยเรียนอายุ ๖-๑๑ ปีลดลงในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา เด็กที่คะแนน EQ กับIQ ต่ำนั้น ส่วนหนึ่งพบว่าเด็กอยู่ในครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่และ ฝากลูกไว้ให้ผู้ดูแลคนอื่นเลี้ยงซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุ โดยให้ศูนย์เด็กเล็กเป็นผู้ดูแลในช่วงกลางวัน ซึ่งศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ ครูพี่เลี้ยงก็ยังมีขีดความสามารถที่จำกัดในการทำงานเรื่องคัดกรอง/ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก รวมทั้งการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ขณะเดียวกันในกลุ่มวัยรุ่น พบว่าสถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและแม่วัยรุ่นยังมีตัวเลขที่สูง วัยรุ่นกลุ่มนี้ยังต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงยังเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กคือสภาพครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป คนหนุ่มสาวมีลูกแล้วฝากไว้ให้ปู่ย่าตายายหรือคนอื่นๆเลี้ยง ทำให้เห็นปัญหาด้านผู้ดูแลที่ขาดทักษะการดูแลเด็ก ประกอบกับระบบบริการสาธารณสุขในส่วนบริการด้านจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่ยังไม่ครอบคลุม และไม่เอื้อให้เด็กได้เข้าถึงบริการ จากสถานการณ์ดังกล่าวแม้ว่าหน่วยงานรัฐจะหามาตรการมาดูแลแก้ไข แต่ก็ยังไม่ทันต่อสถานการณ์

คำตอบเรื่องนี้ อยู่ที่ไหน ?

คำตอบอยู่ที่ชุมชนและท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน ดังนั้นมูลนิธิแพธทูเฮลท์ร่วมกับมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาและมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน จึงดำเนิน โครงการ “ท้องถิ่นเพื่อน้อง” เพื่อส่งเสริมให้เกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่มีความสนใจในสถานการณ์เด็กและเยาวชน พร้อมสนับสนุนให้ชุมชน ,องค์กรสาธารณประโยชน์ เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน นอกจากประโยชน์จะเกิดแก่เด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลท้องถิ่น เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์โครงการ

๑. สนับสนุนให้องค์กรชุมชนมีบทบาทในการทำงานส่งเสริมพัฒนาการและการคุ้มครองเด็กและครอบครัว

๒. พัฒนาคุณภาพบริการส่งเสริมพัฒนาการและคุ้มครองเด็กให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย และเอื้ออำนวยให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงบริการให้มากที่สุด

๓. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เกื้อหนุนชุมชนในการทำงานส่งเสริมพัฒนาการและคุ้มครองเด็กและครอบครัว

ระยะเวลาโครงการ ๓ ปี ( มกราคม ๒๕๕๘ ถึง ธันวาคม ๒๕๖๑ )

กลุ่มเป้าหมาย

๑. เด็กอายุ ๐-๑๘ ปี จำนวน ๘,๐๐๐ คน เด็กในภาวะเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน จำนวน ๘๐๐ คน แกนนำเยาวชน จำนวน ๒๐๐ คน และพ่อแม่ผู้ดูแลเด็ก จำนวน ๘,๐๐๐ คน

๒. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท.)ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน ๘ แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบของอปท.ที่หนุนช่วยชุมชนในการทำงานพัฒนาเด็กและครอบครัว

พื้นที่ดำเนินงาน

๑. ต.แม่กา ต.บ้านสาง ใน อ.เมือง, ต.ป่าซาง ต.ห้วยลาน ใน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

๒. ต.หัวนา ต.เขมราฐ ใน อ.เขมราฐ ต.นาพิน ต.คอนสาย ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

กิจกรรม

จัดตั้งคณะทำงานเด็กในชุมชน
จัดบริการคัดกรอง ส่งเสริมพัฒนาการ และคุ้มครองเด็กในชุมชน
สร้างแกนนำเยาวชน จัดค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชน
เยี่ยมบ้านเด็กและครอบครัว
อบรมเสริมศักยภาพคนทำงานและติดตามหนุนเสริมอย่างต่อเนื่อง, จัดประชุมหารือกรณีศึกษา ( case conference )
จัดตั้งคณะทำงานจังหวัด ( Provincial Advisory Group ) เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่และร่วมผลักดันประเด็นในระดับนโยบาย
ถอดบทเรียนการทำงานเพื่อขยายจำนวนอปท.ต้นแบบ และสื่อสารเพื่อผลักดันนโยบายและแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพ ทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ
ประเมินผลการทำงานโครงการ ทั้งในแง่ผลสัมฤทธิ์ ในเชิงคุณภาพและปริมาณ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. เกิดอปท.ต้นแบบ ที่หนุนช่วยให้ชุมชนทำงานส่งเสริมพัฒนาการและคุ้มครองเด็ก

๒. เด็กอายุ ๐-๑๘ ปี เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและแกนนำเยาวชน ได้รับการพัฒนาเพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลเด็กที่เล็กกว่า

๓. ผู้ให้บริการด้านจิตสังคมในเรื่องเด็ก ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดบริการและพัฒนาเครือข่ายส่งต่อ

๔. องค์กรชุมชนได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากอปท.ในฐานะหน่วยขับเคลื่อนงานด้านส่งเสริมพัฒนาการและคุ้มครองเด็ก ทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย

ผู้ประสานงานในพื้นที่

จังหวัดพะเยา ลาภิศ ฤกษ์ดี โทร.๐๘๔-๙๔๘-๙๒๘๕ วาสนา พรมเสนา โทร.๐๘๙-๗๑๗-๒๒๑๙

จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเขมราฐ บุญถม ชะนะกาล โทร.๐๘๓-๗๔๒-๐๕๐๓ และ

อำเภอตระการพืชผล รังสิมา จันทรจำนง โทร.๐๘๑-๖๙๕-๒๘๖๑

ผู้ประสานงานส่วนกลาง

ผกามาศ อาจพูล โทร.๐๘๐-๕๒๔-๗๗๗๘,๐๒-๖๕๓-๗๕๖๓-๕ อีเมล์ phakamas@path2health.or.th