“โอกาสที่ดี จากกรณีแม่วัย ๑๖” เครือข่ายในพื้นที่มีเรื่องเล่า-เศร้าใจ แถมท้าทาย…

“โอกาสที่ดี จากกรณีแม่วัย ๑๖”

เครือข่ายในพื้นที่มีเรื่องเล่า-เศร้าใจ แถมท้าทายคนทำงานให้ฟังอีกแล้ว สรุปความได้ว่า เมื่อค่ำวานนี้มีน้องวัย ๑๖ ปีคลอดลูกเองในห้องที่บ้านคนเดียว โดยเปิดยูทูปดูวิธีการคลอดและใช้กรรไกตัดสายสะดือ ดูแลให้นมไปตามนั้นอีก ๓ ชั่วโมงต่อมาปวดท้อง หายใจขัดทนไม่ได้ โทรศัพท์ให้แฟนที่อยู่อีกบ้านหนึ่ง มารับ เห็นท่าไม่ดีสองคนก็พาลูกไปโรงพยาบาล

ความเดิมคือน้องคนนี้ พ่อกับแม่แยกทางกันเมื่อ ๓ ปีก่อน แม่พามาหายายแล้วให้อยู่กับยาย จบ ป.๖ ไม่ได้เรียนมา ๒ ปีและกลับไปเรียน ม.๑ ในต้นปีนี้ คบกับแฟนเมื่อ ๓ ปีก่อน (ตอนนี้แฟนอายุ ๒๐) รักกันดูแลกันดียายรับรู้แต่ห้ามท้อง ฝ่ายผู้ชายพ่อแม่ก็แยกทางเช่นกัน ตอนจบ ม.๓ อยากทำงานเป็นตัวของตัวเองเลยไม่เรียนต่อ ต่อมามีเหตุให้ต้องคดีเรื่องทะเลาะวิวาท จึงตั้งใจมีท้องเพื่อเป็นการผูกพันสัญญาใจกันระหว่างต้องคดี จนตั้งท้องและรับรู้กันแค่ ๒ คนกับแฟน ที่บ้านทั้งสองฝ่ายไม่มีใครรู้ เพราะถูกดุและบอกว่าห้ามท้อง เหตุสำคัญคือ “กลัว ไม่กล้าบอกใครๆ” ปิดๆ บัง ๆ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านทั้ง ๒ ฝ่าย และเมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อนแฟนก็พ้นคดีกลับมาเจอกันไปมาหาสู่เช้า / เย็นตามปกติจนถึงวันคลอด ซึ่งยายก็ยังไม่ทราบว่าหลานคลอดเหลนในบ้าน

อยู่โรงพยาบาลได้คืนนึงอาการดีขึ้นปลอดภัยแข็งแรงทั้งแม่ทั้งลูก ก็กลับมาอยู่ที่บ้านของแฟน หนูน้อยที่น้ำหนัก ๒,๗๐๐ กรัม ก็เป็นที่ชื่นชอบรักใคร่ของทุกคน

นี่คงเป็น ๑ ในหลาย ๆ กรณีเรื่องท้องวัยรุ่นทั้งที่พร้อม หรือไม่พร้อมในบ้านเรา ซึ่งก็ตีความแตกต่างหลากหลายกันไปไม่เหมือนกัน

อยากให้ดูให้เห็นประเด็นจากเหตุการณ์นี้ โดยไม่ต้องสืบสาวรายละเอียดให้มากความ

ที่จริงมีหลายประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่อง “เด็กและวัยรุ่นต้องมีที่พึ่งในบ้าน ที่พึ่งข้างบ้าน หน่วยงานในพื้นที่ หรือแหล่งข้อมูลที่พึ่งที่ควรมี”

แน่นอนเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริงเรื่องพ่อกับแม่ของทั้ง ๒ ฝ่ายที่แยกกันไป ก็คงมีเหตุผลของผู้ใหญ่ อันนี้ก็ว่ากันไป

แต่กับวัยรุ่นอายุราวๆ ๑๕ ปี, ๑๗ ปี ที่พึ่ง หางเสือ ข้อมูล แหล่งช่วยเหลือทั้งใกล้ หรือไกล พวกเขาต้องมี … หรือปล่าว?? อย่างกรณีนี้…
>> ถ้าย้อนไปก่อนหน้านี้สัก ๒ ปี / ๑ ปี / ๗-๘ เดือนก่อน…ใครบ้างต้องทำอะไร??
>> หรือเมื่อสัก ๓ วันก่อนหน้านี้… ใครบ้างต้องทำอะไร??

นึกถึงบทสรุปบนสไลด์ ในเวทีคนทำงาน (ตามภาพ)

ใช่เลย ต้องทำให้ผู้คน (โดยเฉพาะผู้ใหญ่) เข้าใจจริงๆ แล้วช่วยกันทำหรือสร้างให้เด็ก ๆ ลูกหลานเรามีที่พึ่งได้จริง คุยได้จริง ปรึกษาได้จริง

เอาเรื่องแบบนี้มาตั้งวงคุยกัน ถกกัน หาทางออกกันแบบ “Case Conference” กับภาคีทำงานระดับต่างๆ กันเถิด ให้เรื่องเสนอข้อมูลสถิติเป็นเรื่องรอง…เพราะกรณีแบบนี้แสนจะเป็นรูปธรรม และใกล้ตัวจริงๆ

คงเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์เรื่องคุณภาพชีวิตกัน และทำให้ระดับบริหาร มารับรู้ มาเข้าใจ สนับสนุน ส่งเสริมคนทำงาน เปิดรับวิธีการ เครื่องมือใหม่ๆ พร้อมกับเชื่อมโยงว่าเป็นงานในภารกิจของเราเองด้วย

เพราะอยู่ในสังคมเดียวกัน เราทุกคนล้วนคือส่วนผสมให้เกิดเรื่องราวแบบนี้…และก็ควรเป็นส่วนผสมของการดูแลปัญหานี้ด้วยกัน

ขอบคุณข้อมูลจากพื้นที่ : คุณคือส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกัน




ที่มา : เพจคุยเปิดใจ ลูกหลานปลอดภัย